สำนักวิปัสสนาปฏิบัติบูชาพระพุทธบาท ๔ รอย
สาขาวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) จังหวัดเชียงใหม่
Vipassana Meditation Centre of Phra Buddhabat Siroi in Chiangmai Thailand
การปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม คือ การนำเอาธรรมะมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตทั้งแก่ ตนเองและผู้อื่น มีอยู่หลายอย่างนับแต่การให้ (ทาน) การสำรวมกาย วาจา(ศีล) และการหมั่นทำจิตใจให้นิ่งและผ่องใส (ภาวนา) ซึ่งเป็นการฝึกพัฒนา จิตให้ยกระดับสูงขึ้นจนพ้นจากกิเลสเศร้าหมอง วิธีภาวนามีอยู่ 2 วิธี เรียกว่า สมถกรรมฐาน คือ การฝึกให้จิตสงบมีสมาธิเป็นเป้าหมาย และอีกวิธีเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน คือ การฝึกให้เกิดปัญญา หลังจากจิตสงบเป็นสมาธิระดับหนึ่งวิปัสสนากรรมฐาน คือ การฝึกกรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ที่เริ่มต้นจากการภาวนาหรือการเจริญสติเพื่อให้ เกิดสมาธิแล้วได้ปัญญา ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญาหรือปัญญาอันเกิดจากการภาวนา ประโยชน์ของการเจริญสติ 4 ประการคือ
1. ทำให้สติมีกำลังและว่องไวมากขึ้น
2. สุคติ คือ ทำให้อยู่ภาวะที่มีความสุข
3. อุปนิสัย มีความโน้มเอียงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
4. อินทรีย์ คือ มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ภาวะจิตที่ประเสริฐสุขยิ่งขึ้น
ทำไมต้องมาปฏิบัติธรรมที่วัด
คำตอบอาจแตกต่างกันไป เช่น อยากได้บุญ อยากมีโชคดี อยากพ้นทุกข์ที่มีอยู่ ต้องการหาความสุขสงบ หรือกำลังท้อแท้ในชีวิต เป็นต้น เมื่อมาวัดจึงควรได้อะไรดีๆ ไปสักอย่าง เช่น ได้ความสบายใจเพียงแค่มาวัด ได้ความรู้สึกอิ่มใจเมื่อได้มาถวายภัตตาหารหรือสังฆทาน ได้ความรู้สึกสุขสงบและเบาใจ เมื่อเข้ามาปฏิบัติตอนกลางวันแล้วกลับเข้ามารักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ เข้ามาปฏิบัติทั้งคืนของวันหยุด เข้ามาอยู่วัด ปฏิบัติ 3 วัน 7 วัน หรือจนจบหลักสูตรพื้นฐานเบื้องต้น 26 วัน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งดีๆ ที่ได้ไป ที่เราเรียกว่าได้บุญหรือได้ความสุขใจบุญคืออะไร คำว่าบุญ แปลว่า สิ่งที่ชำระใจให้สะอาด จะสะอาดเท่าใดก็อยู่ที่ว่าทำบุญอย่างไร ดังที่มีคำกล่าวว่าให้ทานแล้วรวย รักษาศีล แล้วสวย ภาวนาแล้วมีปัญญาเป็นต้น การให้ทานนั้นง่าย เพราะมีโอกาส ทำได้มากกว่าการรักษาศีลที่บางครั้งต้องพร่องหรือขาดไปบ้างเพราะต้องอยู่ในสังคมหรือต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตนเองและบริวาร การภาวนาเป็นสิ่งที่ ทำได้ยากที่สุด เพราะอาศัยความตั้งใจ เวลา และโอกาส มากกว่าการทำทาน รักษาศีล แต่การภาวนานั้นกลับได้บุญสูงสุด ดังนั้น การมาอยู่วัดด้วย การมากิน นอน เฉยๆ ไม่ได้บุญ ต้องทำหรือต้องปฏิบัติด้วยจึงจะได้บุญ
ภาวนาคืออะไร
คำว่า ภาวนา แปลว่า การทำให้เจริญขึ้นหรือพัฒนาขึ้น การภาวนา จึงหมายถึง การพัฒนาจิตตนให้ทุกข์น้อยลง (สุขมากขึ้น) จนถึงจุดหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในพระพุทธศาสนา คือ การพัฒนาตนให้พ้นทุกข์ได้ในที่สุด ด้วยหลักการภาวนาที่เรียกว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 เป็นการเจริญสติที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของแต่ละคนให้มีกำลังเพิ่มขึ้น เพื่อจิตมีสมาธิได้รวดเร็วขึ้น ทำให้นำปัญญามาใช้ได้รวดเร็วขึ้นและมีคุณภาพ (ระดับ) สูงขึ้น เริ่มต้นด้วยการมีสติรู้อยู่กับกาย รวมทั้งอาการต่างๆ ของกาย มีสติรู้อยู่กับความรู้สึกต่างๆ ของกายและมีสติรู้อยู่กับความเป็นไปของความคิดหรือจิตใจและมีสติอยู่กับสิ่งที่เกิดกับจิตและปรุงแต่งให้จิตเป็นไปต่างๆ ในแต่ละขณะอย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป ด้วยวิธีการปฏิบัติที่มีระบบและขั้นตอนชัดเจนและวิธีการนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตตามปกติในประจำวัน ที่การปฏิบัติทั้งสองอย่างจะเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี ได้รับผลเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
สติ สมาธิ ปัญญา
สติ มีสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งที่เป็นความจำ อีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้สึกตัวระลึกได้และระมัดระวัง (ไม่ประมาท) สติเป็นสิ่งสวยงามและไม่เป็นโทษที่เกิดขึ้นกับจิตแล้วจะทำให้จิตมีสมาธิและปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอสมาธิ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ทำให้จิตสงบนิ่งจดจ่อตั้งมั่นได้ในสิ่งใด สิ่งหนึ่ง (หรืออารมณ์หนึ่ง) ที่อาจจะเป็นสิ่งเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ ขณะก็ได้ ซึ่งสมาธิในแต่ละขณะ (ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะหนึ่ง) นี้เองจะทำให้ปัญญา (ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการเจริญสติ) เกิดได้ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานปัญญา เป็นสิ่งที่เกิดกับจิตแล้วจะทำให้จิตสว่าง ผ่องใส ไม่มัวหมองด้วยกิเลสเพราะความไม่รู้ในความเป็นจริงของโลกและชีวิต ปัญญามีหลายระดับตั้งแต่ขั้นปัญญารักษาชีวิตรอด (ปัญญาเกิดจากการฟัง อ่าน เขียนเรียนรู้) และปัญญารักษาทั้งชีวิตและจิตใจรอด (ปัญญาเกิดจากการพิจารณาโดยแยบคายและปัญญาเกิดจากการภาวนา) วิปัสสนาปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดจากการเห็นพิเศษ คือ เห็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เป็นการเห็นในสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยปัญญาธรรมดา เป็นปัญญาเกิดจากการทำ ไม่ใช่เกิดจากการคิดหรือการอ่าน ปัญญาเห็นทุกข์ได้เมื่อเห็นจะไม่พบและเมื่อพบจะไม่เห็น สำหรับผู้ฝึกวิปัสสนาแล้ว ทุกข์มีไว้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็นทุกข์ พระพุทธศาสนาสอนให้เห็นทุกข์และฝึกตนให้พ้นทุกข์ ตามหลักอริยสัจจ์ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (มรรค 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ หรือมีความเห็น ความคิด คำพูด การกระทำ อาชีพ ความเพียร สติ สมาธิ ที่ถูกต้องดีงาม)
สติปัฏฐาน 4
สติปัฏฐาน 4 คือ หลักกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เหล่าพระภิกษุฝึกตนด้วยการฝึกจิตตน เพื่อความสุขความเจริญในวิถีแห่งการ เป็นบรรพชิตและเพื่อบรรลุถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิตคือพระนิพพานอีกประการหนึ่ง โดยพระองค์ชี้ให้เห็นว่า หลักสติปัฏฐานเป็นคำสอนที่เป็นสาระสำคัญที่สุด ในบรรดาคำสอนทั้งหมดของพระองค์ ที่สรุปยอดทั้งหมดลงได้ในความไม่ประมาทเพียงอย่างเดียว ด้วยการฝึกจิตตนตามหลักสติปัฏฐาน 4 หรือ การเจริญสตินี่เองหลักสติปัฏฐาน 4 ปรากฏอย่างชัดเจน ละเอียดและครบถ้วนใน มหาสติปัฏฐานสูตร (ทีฆนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 10) และปรากฏอย่าง ชัดเจนอีกในสติปัฏฐานสูตร (มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 7 ที่มีความหมายคล้อยตามกันที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพพานฺสส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา” แปลและมีความหมายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว ที่ไปแห่งเดียว เพื่อความหมดจดพิเศษ ของสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศก ความรำไร รำพัน เพื่อบรรลุถึงเญยธรรมคือ อริยมรรคที่ขจัดเสียซึ่งความทุกข์และโทมนัส ให้ถึงซึ่งพระนิพพาน และได้ทรงอธิบายหลักการปฏิบัติไว้อีกว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ, เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ, จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ, ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ,
แปลและมีความหมายว่า หลักปฏิบัติมีอยู่ 4 ประการ คือ
1. กายานุปัสสนา ให้พิจารณากายและอาการต่างๆ ของกาย ด้วย สติปัญญา และความเพียร เพื่อขจัดความยินดียินร้ายเสียให้พินาศ
2. เวทนานุปัสสนา ให้พิจารณาความรู้สึกต่างๆของกาย ด้วยสติปัญญาและความเพียร เพื่อขจัดความยินดียินร้ายเสียให้พินาศ
3. จิตตานุปัสสนา ให้พิจารณาภาวะของจิตที่คิดและเป็นไปต่างๆ ด้วยสติ ปัญญาและความเพียร เพื่อขจัดความยินดียินร้ายเสียให้พินาศ
4. ธัมมานุปัสสนา ให้พิจารณาสิ่งที่ปรุงแต่งจิตต่างๆ ด้วยสติปัญญาและความเพียร เพื่อขจัดความยินดียินร้ายเสียให้พินาศหรือกล่าวอย่างย่อว่า
การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมในการปฏิบัติว่า วิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง
วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4
วิธีการปฏิบัติเริ่มจากการมีสติอยู่กับกายด้วยการกราบสติปัฏฐานแล้วต่อด้วยเดินจงกรมและนั่งกรรมฐานเป็นลำดับไป โดยการกราบสติปัฏฐานเป็นการเตรียมกายใจ ด้วยการมีสติอยู่ที่การเคลื่อนไหวของมือ เป็นต้น เพื่อลดความเร่งรีบของกายและความรุ่มร้อนของใจให้พร้อมสำหรับการเดินจงกรมและนั่งกรรมฐานให้ได้ผลเต็มที่ เปรียบเหมือนการบริหารกายก่อนเล่นกีฬาหรือการอุ่นเครื่องรถยนต์ก่อนขับเป็นต้น เมื่อกายใจเริ่มสงบช้าลงแล้ว เริ่มต้นด้วยการเดินจงกรมที่ให้มีสติกำกับอยู่กับการเคลื่อนไหว ต่อด้วยการนั่งกรรมฐาน กำหนดการเคลื่อนไหวของท้องที่พอง-ยุบ ในขณะที่หายใจ เข้า-ออก ซึ่งมีการกราบสติปัฏฐานในอาการต่างๆ การเดินจงกรมระยะต่างๆ และการนั่งกรรมฐาน ตามลำดับขั้นของกายดังนี้ ฯ
*** copy right by http://www.watrampoeng.com/watrampoeng/?page_id=2048